14 ตุลาคม 2553

+ สรุปหลักจาก แนวคำพิพากษาศาลฎีกา เกี่ยวกับความผิดอาญาฐานต่างๆ

สรุปหลักจาก แนวคำพิพากษาศาลฎีกา เกี่ยวกับความผิดอาญาฐานต่างๆ

ความผิดฐานฉ้อโกง
- ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง ได้แก่ ผู้ที่หลอกลวง และรวมถึงเจ้าของทรัพย์ด้วย (ฎ.4684/2528(ประชุมใหญ่))

- ผู้ที่ถูกหลอกลวงนั้นเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงได้ แม้จะมิได้เป็นเจ้าของทรัพย์ด้วย(ฎ.1341/2495)หรือผู้อื่นเป็นผู้ส่งทรัพย์ให้ก็ตาม(ฎ.1064/2491)

- หลอกลวงให้ทำนิติกรรมอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อาญามาตรา341วรรคสองผู้ถูกหลอกลวงย่อมเป็นผู้เสียหายแม้ผู้อื่นจะเป็นผู้ทำนิติกรรมตามที่จำเลยหลอกลวงก็ตาม(ฎ.1931/2514)

- สำหรับผู้ที่ดูแลรับผิดชอบทรัพย์สินที่ถูกฉ้อโกงก็น่าจะเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ได้ แต่ถ้าหน่วยงานของรัฐที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล เช่น มณฑลทหารบกที่ 31 เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ หน่วยงานของรัฐดังกล่าวก็ไม่มีอำนาจดำเนินคดีได้ จึงไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ.1352/2544)

- การที่เอาเช็คของผู้อื่นไปหลอกลวงธนาคารให้จ่ายเงิน ธนาคารซึ่งเป็นเจ้าของเงินและเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ถูกหลอกลวงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง ส่วนผู้ที่มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็คไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงแต่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสาร (ฎ.2193/2534)

- ในกรณีการรับฝากเงิน ผู้รับฝากมีสิทธินำเงินที่รับฝากไปใช้ได้ เพียงแต่มีหน้าที่ต้องคืนเงินแก่ผู้ฝากให้ครบจำนวนเท่านั้น ตามป.พ.พ. มาตรา672 หากมีผู้มาหลอกลวงเอาเงินจากผู้รับฝากไป ผู้รับฝากก็ยังมีหน้าที่ต้องคืนเงินให้แก่ผู้ฝากผู้ฝากจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ผู้รับฝากเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย (ฎ.87/2506(ประชุมใหญ่),613/2540)

- แต่ถ้าเป็นกรณีที่จำเลยลวงเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. จากลูกค้าของธนาคารแล้วนำเงินไปถอนเงินจากตู้เบิกเงินด่วนด้วย ถือว่าเป็นเงินของลูกค้าแล้ว ลูกค้าเป็นผู้เสียหาย (ฎ.671/2539)

- การใช้บัตรเครดิตปลอมไปซื้อสินค้าและบริการทำให้ธนาคารต้องจ่ายเงินตามใบบันทึกรายการขายจึงเป็นผู้เสียหาย (ฎ.7001/2544)

- ความเสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง ต้องเป็นความเสียหายโดยตรงจากการหลอกลวงของผู้กระทำผิด ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าการหลอกลวงเป็นผลให้โจทก์ถูกจำเลยฟ้องเป็นคดีแพ่ง มิใช่ความเสียหายโดยตรง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.1357/2533)

- หลอกลวงว่าจะพาโจทก์ไปเรียนหนังสือต่อที่กรุงเทพฯ ให้โจทก์ลักเงินของบิดามาให้ โจทก์ปฏิบัติตาม เมื่อได้เงินมาแล้วมอบให้จำเลย จำเลยเอาเงินนั้นไปเสีย ดังนี้โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์ แต่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง (ฎ.736/2504)

- ตกลงให้เงินเพื่อให้นำไปมอบกรรมการสอบบรรจุเข้ารับราชการเพื่อช่วยเหลือให้สอบได้ ถือว่าเป็นผู้ใช้ให้กระทำผิด ไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.1960/2534)

- แต่ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายให้เงินจำเลยไปเพื่อให้จำเลยนำไปให้เจ้าพนักงานกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ แต่เป็นการให้เพื่อให้จำเลยช่วยติดต่อให้เข้าทำงานโดยไม่ต้องสอบเท่านั้น เช่นนี้ยังเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ.1500/2536,4744/2537)

- หลอกลวงโจทก์ให้เข้าเล่นการพนันเพื่อต้มบุคคลอื่น เป็นการร่วมกระทำผิดด้วย โจทก์ไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ.1813/2531)

- แต่ถ้าหลอกลวงโจทก์ให้เข้าเล่นการพนัน โดยอ้างว่าเพื่อกันมิให้บุคคลอื่นเสียเงิน ถือว่าโจทก์มิได้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดฐานฉ้อโกงด้วย จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ.3327/2532)

- หลอกลวงว่าจะขายธนบัตรปลอมให้เป็นความตกลงที่มีวัตถุประสงค์ผิดกฎหมาย ไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ.771/2493)

ความผิดฐานเบิกความเท็จและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ

ความผิดฐานเบิกความเท็จและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อาญามาตรา177 และ180 ส่วนได้เสียในความผิดทั้งสองฐานนี้ คือ ผลแห่งหารแพ้ชนะคดี ดังนั้น ผู้ที่ได้รับความเสียหายจึงน่าจะเป็น คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีนั้นเองหรือเจ้าพนักงานในการยุติธรรม(ฎ.533/2541,4804/2531,1033/2533,951/2531)

ต่อมามี ฎ.2224/2536 วินิจฉัยว่าในความผิดฐานเบิกความเท็จไม่จำต้องคำนึงว่าเป็นคู่ความในคดีเสมอไป ถ้าคำเบิกความนั้นไปกระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอก ทำให้บุคคลภายนอกเสียหาย กล่าคือ ทำให้บุคคลภายนอกเสียสิทธิในที่ดินจากการเบิกความนั้น บุคคลภายนอกก็เป็นผู้เสียหายได้คู่ความในคดีที่จะเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความเท็จได้ จะต้องเป็นตัวความที่แท้จริง ทนายความของตัวความจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ.1709/2524(ประชุมใหญ่))

ผู้ที่เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความเท็จได้ (ฎ.892/2516)
อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นคู่ความในคดี ก็มิใช่ว่าจะเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความเท็จหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเสมอไปไม่ เช่น

- ข้อความที่เบิกความในชั้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของคู่ความฝ่ายนั้น ไม่เกี่ยวกับคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะเป็นเท็จ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความเท็จ (ฎ.555/2514) และในกรณีเช่นนี้ถือว่าไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย (ฎ.1050/2518)

- กรณีคู่ความเบิกความเท็จในชั้นไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดี ถือว่าความเสียหายมิได้เกิดแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งโดยตรง คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นย่อมไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ.297/2508)

- ในกรณีจำเลยเบิกความเท็จในชั้นไต่สวนเพื่ออนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การไม่ใช่เรื่องกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิด โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.1572/2525)

- จำเลยเบิกความเท็จเกี่ยวกับค่าเสียหายที่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับ โจทก์ไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความเท็จ แม้โจทก์จะเป็นคู่ความในคดีก็ตาม (ฎ.8278/2540)

- สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาว่าเป็นโมฆะแล้วนั้น ไม่มีผลมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นแม้จำเลยจะเติมข้อความในสัญญาและเบิกความเท็จ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสารและเบิกความเท็จ

ความผิดฐานแจ้งความเท็จ
แม้ความผิดฐานแจ้งความเท็จจะเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน แต่ราษฎรก็อาจเป็นผู้เสียหายได้ ถ้าได้รับความเสียหายโดยตรง เช่นข้อความเท็จนั้นมีผลทำให้จำเลยถูกดำเนินคดีอาญา (ฎ.2415/2535,2625/2536)

จำเลยเสนอหลักประกันในการขอทุเลาการบังคับอันเป็นเท็จ โดยแจ้งว่าหลักประกันมีราคาสูงเกินความจริง ทำให้ศาลหลงเชื่อ จึงรับไว้เป็นหลักประกันและอนุญาตให้ทุเลาการบังคับ ทำให้โจทก์ไม่อาจบังคับคดีได้ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์/ฎีกา ถือว่าโจทก์ในคดีดังกล่าวเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จแล้ว (ฎ.2221/2515)

จำเลยแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน แต่มิได้เจาะจงถึงโจทก์โดยตรง โจทก์มิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ (ฎ.2998/2531,6858/2541,7957/2542)

ผู้กู้มอบสมุดเงินฝากและบัตร เอ.ที.เอ็ม. ให้แก่ผู้ให้กู้ยึดไว้เป็นหลักประกันเงินกู้แล้วผู้กู้ไปแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าสมุดเงินฝากและบัตร เอ.ที.เอ็ม.หายไป เพื่อนำไปเป็นหลักฐานแสดงต่อธนาคารให้ออกสมุดเงินฝากและบัตร เอ.ที.เอ็มให้ใหม่ถือว่าเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรง มิได้เจาะจงว่ากล่าวถึงผู้ให้กู้ ผู้ให้กู้ไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ (เจ้าพนักงานเป็นผู้เสียหาย (ฎ.6858/2541)

ในบางกรณี แม้จำเลยแจ้งข้อความโดยมิได้ระบุเจาะจงถึงผู้ใดโดยตรงแต่มีผลให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เช่นทำให้ต้องเสียที่ดินไปเพราะการแจ้งนั้น ก็ถือว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายโดยตรงและถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จแล้ว (ฎ.3554/2531)

ในกรณีพยานไม่มาเบิกความต่อศาลตามนัดโดยอ้างว่าป่วยซึ่งเป็นเท็จนั้น คู่ความในคดีนั้นไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงในความผิดฐานแจ้งความเท็จของพยาน (ฎ.1753/2498)

ชายจดทะเบียนสมรสซ้อน โดยแจ้งต่อนายทะเบียนว่ายังไม่เคยสมรสมาก่อน ดังนี้ทั้งภรรยาเดิมและภรรยาใหม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ(ฎ.2614/2518,2583/25225052/2530)

แต่ถ้าหญิงที่จดทะเบียนสมรสครั้งหลังทราบว่าชายมีภรรยาที่ถูกต้องตามกำหมายอยู่ก่อนแล้วก็ยังยอมจดทะเบียนสมรสด้วย หญิงนั้นไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย



ความผิดฐานฟ้องเท็จ
การที่นำความเป็นเท็จมาฟ้องคดีอาญา แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้อง ผู้ถูกฟ้องย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องจึงเป็นผู้เสียหาย (ฎ.1007/2524)

ความผิดฐานยักยอก
ผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอก ได้แก่ เจ้าของกรรมสิทธิ์ และผู้ครอบครองดูแลทรัพย์ขณะที่ถูกยักยอก (ฎ.5097/2531,1554-1555/2512,2386/2541)

ในคดีแพ่ง ศาลสั่งคุ้มครองประโยชน์โดยให้จำเลยเก็บเงินค่าเช่าทรัพย์นำมาวางศาล ถือว่าเงินที่จำเลยเก็บมายังไม่เป็นของโจทก์ การที่จำเลยไม่นำมาวางศาลแล้วนำไปเป็นประโยชน์ของตน โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ.171/2544)

ในคดีแพ่งโจทก์จำเลยตกลงยอมความกันได้จำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่ทนายความของโจทก์โดยโจทก์มิได้มอบหมายให้รับแทน ทนายความของโจทก์จึงไม่มีอำนาจรับเงินนั้นได้ เงินดังกล่าวจึงยังไม่ตกเป็นของโจทก์ เมื่อทนายโจทก์ยักยอกเงินนั้นโจทก์ไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ.815/2535(ประชุมใหญ่)),190/2532)

แต่ถ้าทนายโจทก์ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้รับเงินที่ชำระหนี้แทนได้ เงินดังกล่าวย่อมตกเป็นของโจทก์แล้วในฐานะตัวการ ทนายโจทก์เบียดบังไป โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกได้ (ฎ.33/2532)

ตัวแทนหรือลูกจ้างรับเงินหรือสิ่งของของตัวการหรือนายจ้าง แล้วแต่กรณีจากบุคคลภายนอก ถือว่ามีสิทธิในเงินหรือสิ่งของตกเป็นของตัวการหรือนายจ้างทันที ถ้าตัวแทนหรือลูกจ้างยักยอกเอาเงินหรือสิ่งของนั้นเป็นของตน ตัวการหรือนายจ้างย่อมเป็นผู้เสียหาย(ฎ.2250/2544,4/2533,3656/2533,556/2541)

สำหรับผู้ชำระเงินหรือสิ่งของ เมื่อส่งมอบเงินหรือสิ่งของให้แก่ตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้รับเงินไปแล้ว สิทธิในเงินหรือสิ่งของย่อมตกเป็นของตัวการหรือนายจ้างทันที ผู้ชำระเงินหรือสิ่งของจึงไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอก (ฎ.1755/2531,6897/2540)

ส่วนกรณีที่ผู้อื่นซึ่งมิใช่ตัวแทน หรือลูกจ้างยักยอกทรัพย์ของตัวการหรือนายจ้าง ตัวแทนหรือลูกจ้างไม่เป็นผู้เสียหาย ผู้เสียหายคือตัวการหรือนายจ้างเช่นกัน(ฎ.465/2536,243/2529,1618/2509)

ผู้จัดการมรดกเป็นผู้ครอบครองดูแลจัดการทรัพย์มรดก จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก (ฎ.47/2519(ประชุมใหญ่))
บุตรที่บิดารับรองตามความเป็นจริง ตาม ป.พ.พ.มาตรา1627 เช่นมีพฤติการณ์แสดงให้คนรู้ว่าเป็นบุตร เป็นผู้เสียหายฟ้องผู้จัดการมรดกในข้อหายักยอกได้ (ฎ.1205/2542)

กรณีหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งเป็นผู้แทนของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ถือว่าเป็นผู้ครอบครองดูแลทรัพย์สินของห้างฯ เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินของห้างฯได้ (ฎ.2157/2518)

แต่จะร้องทุกข์ในนามตนเองเป็นการส่วนตัวไม่ได้ (ฎ.5008/2537) เพราะห้างฯกับผู้จัดการห้างฯเป็นคนละคนกัน
ในกรณีที่มีผู้ยักยอกทรัพย์สินของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นย่อมเป็นผู้เสียหาย ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.6328-6330/2531)

แต่ถ้าผู้จัดการหรือกรรมการนิติบุคคลเป็นคนยักยอกเงินหรือทรัพย์สินอื่นของนิติบุคคลเสียเอง ผู้จัดการหรือกรรมการคงไม่ยอมดำเนินคดีกับตนเอง ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเป็นผู้เสียหายดำเนินคดีกับผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลนั้นๆได้ (ฎ.115/2535,1250/2521(ประชุมใหญ่),1680/2520)

เมื่อเจ้าของทรัพย์สินตาย ทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาท ทายาทย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกซึ่งเกิดภายหลังเจ้ามรดกตายได้ แม้จะยังไม่ได้ครอบครองทรัพย์ที่ถูกยักยอกก็ตาม (ฎ.1938/2494) แต่ถ้าเป็นความผิดที่เกิดขึ้นระหว่างเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ เจ้สมรดกจึงเป็นผู้เสียหาย สิทธิในการฟ้องคดีอาญาไม่ตกทอดมายังทายาท ทายาทไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.2219/2521)

ในสัญญาเช่าซื้อถ้าผู้เช่าซื้อตายเสียก่อน หลังจากนั้นมีผู้ยักยอกทรัพย์ที่เช่าซื้อ ทายาทผู้เช่าซื้อย่อมเป็นผู้เสียหาย (ฎ.6007/2530) (สิทธิและหน้าที่ในสัญญาเช่าซื้อตามกรณีนี้ ตกทอดมายังทายาทก่อนเกิดการยักยอกแล้ว ทายาทจึงได้รับความเสียหาย)

ความผิดฐานลักทรัพย์,ทำให้เสียทรัพย์และบุกรุก
การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ฐานทำให้เสียทรัพย์และฐานบุกรุก เป็นการกระทำต่อเจ้าของทรัพย์หรือผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ ดังนี้ทั้ง เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทั้งผู้ครอบครองดูแลทรัพย์ เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานดังกล่าวได้(ฎ.5980-5981/2539,1548/2535,1284/2514,634/2536)

ผู้อาศัยผู้เช่าอีกทอดหนึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ที่เช่า (ฎ.993/2499) และในกรณีผู้เช่าคืนทรัพย์ที่เช่าให้ผู้ให้เช่าแล้วผู้เช่าก็ไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ.1417/2522)

แต่ถ้าผู้เช่ายังไม่ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนแก่ผู้ให้เช่า แม้ศาลจะพิพากษาให้ขับไล่ผู้เช่าแล้ว ก็ยังถือว่าผู้เช่าเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ที่เช่าอยู่ ผู้เช่าจึงเป็นผู้เสียหาย (ฎ.363/2518)

ผู้ครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดฐานบุกรุก (ฎ.928/2520(ประชุมใหญ่),172/2535) แต่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้ต้นไม้ที่ตนปลุกไว้ในที่สาธารณะดังกล่าวเสียหาย (ฎ.5310/2530)

ผู้ครอบครองดูแลทรัพย์จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์ให้เป็นผู้ครอบครองดูแลทรัพย์นั้นด้วย ถ้าเพียงแต่เจ้าของอนุญาตให้พักอยู่อาศัยเท่านั้นโดยไม่ได้รับมอบหมายโดยตรงให้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์นั้น ผู้ที่พักอยู่อาศัยไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ (ฎ.3523/2541)

เป็นเจ้าของที่ดิน แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์และเต็นท์ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดิน จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้รถยนต์และเต็นท์เสียหาย (ฎ.7477/2541)

ในเรื่องทางภารจำยอม เจ้าของสามยทรัพย์ (เจ้าของที่ดินที่มีสิทธิใช้ทางภารจำยอม) ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองภารยทรัพย์ จึงไม่เป็นผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องผู้ที่ทำให้ภารยทรัพย์เสียหาย (ฎ.1828/2523)


ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร
นำคำร้องซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอมไปยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ เพื่อขอเลขบ้านใหม่ซึ่งเป็นบ้านเลขที่เดียวกับบ้านโจทก์เพื่อต้องการเอาบ้านเป็นของจำเลย ดังนี้เลขบ้านไม่ใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ โจทก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.2361/2530)

มีผู้ปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คไปเบิกเงินจากธนาคาร ธนาคารเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและฐานฉ้อโกงเพราะเงินเป็นของธนาคาร ตามป.พ.พ.มาตรา 672 วรรคสอง ส่วนผู้สั่งจ่ายเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสาร (ฎ.1462-1463/2523)

ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ไม่เป็นผู้เสียหายในกรณีที่จำเลยปลอมหรือใช้เอกสารปลอมเป็นพยานหลักฐานในคดีนั้น (ฎ.3561/2525)

ความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อาญามาตรา157 เอกชนก็อาจเป็นผู้เสียหายได้ เช่นการที่เจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยผู้กระทำผิดอาญา ผู้เสียหายในความผิดอาญาฐานนั้นย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ (ฎ.4881/2541,2294/2517,611/2497)

เจ้าพนักงานตำรวจจดคำพยานเป็นเท็จเพื่อช่วยผู้กระทำผิดมิให้รับโทษ หรือรับโทษน้อยลงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผู้เสียหายหรือผู้จัดการแทนผู้เสียหายในความผิดอาญาที่มีการสอบสวนเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ (ฎ.2294/2517)

ผู้ใหญ่บ้านละเว้นไม่จับกุมผู้บุกรุกที่สาธารณะ ผลการจับกุมมิได้เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เลย โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อาญามาตรา157 (ฎ.3035/2523)


ความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ
ผู้เสียหายในความผิดตามพรบ.นี้มีได้เฉพาะผู้ทรงเช็คในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเท่านั้น (ฎ.1035/2529,1891/2524)

แม้ผู้เสียหายจะได้รับชำระหนี้ตามเช็คจากผู้ทรงคนก่อนแล้วก็ตาม ก็ยังเป็นผู้เสียหายอยู่ (ฎ.2353/2537)

เมื่อผู้ทรงเช็คถึงแก่ความตายก่อนเช็คถึงกำหนดสิทธิในเช็คย่อมตกทอดแก่ทายาทและถือว่าทายาทเป็นผู้ทรงเช็คต่อไป เมื่อต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ถือว่าทายาทเป็นผู้เสียหายโดยตรงในความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ (ฎ.3619/2543)

ฐานะของผู้ทรงเช็คเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่ใช่ทรัพย์สินระหว่าสามีภริยา สามีของผู้ทรงเช็คในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.2752/2531)

ผู้รับโอนเช็คภายหลังธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินไม่ใช่ผู้เสียหาย แม้ผู้รับโอนจะนำเช็คไปขึ้นเงินและธนาคารปฏิเสธอีกครั้งก็ตาม เพราะไม่ทำให้จำเลยมีความผิดขึ้นอีก (ฎ.2703/2523)

การที่ผู้ทรงเช็คนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้อื่น หรือให้ผู้อื่นนำเช็คไปเรียกเก็บเงินแทน ถือว่าผู้ทรงเช็คเป็นตัวการ จึงยังเป็นผู้ทรงเช็คขณะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและเป็นผู้เสียหาย (ฎ.1084/2542,2722/2527,349/2543)

ในกรณีที่จำเลยออกเช็คหลายฉบับเพื่อชำระหนี้มูลหนี้จำนวนเดียวกัน และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ เมื่อจำเลยถูกฟ้องตามเช็คฉบับหนึ่งไปแล้วโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามเช็คฉบับหลังอีก (ฎ.3254/2526,3822/2529)
รับโอนเช็คมาเพื่อฟ้องคดีอาญา ถือว่าไม่สุจริตไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ.3413-3415/2528)

เช็คที่มีมูลหนี้ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ผู้รับเช็คไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ.3047-3048/2531)

เช็คที่ฟ้องเป็นเช็คที่ผู้เสียหายคิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายรวมเข้าไปด้วย ถึอว่าผู้เสียหายไม่ใช่ผ็ทรงเช็คโดยชอบและไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ.30/2543)

ความผิดฐานหมิ่นประมาท
บุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มบุคคลโดยไม่ได้เจาะจงว่าหมายถึงผู้ใด หรือจากถ้อยคำที่หมิ่นประมาทไม่อาจทราบว่าเป็นผู้ใด ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนั้นคนใดคนหนึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.1325/2498,3954/2539)

แต่ถ้าหมิ่นประมาททุกคนที่อยู่ในกลุ่มนั้น เช่นกล่าวหมิ่นประมาทพระทั้งวัด (ฎ.448/2489)หรือกล่าวหมิ่นประมาททนายความทั้งจังหวัด (ฎ.295/2505(ประชุมใหญ่) บุคคลดังกล่าวคนใดคนหนึ่งเป็นผู้เสียหาย


ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน เป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงาน คนที่มิใช่เจ้าพนักงานถูกจำเลยต่อสู้ขัดขวางไม่ใช่ผู้เสียหาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หนังสือกรมฯ